กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
Department of Labour Protection and Welfare

แรงงานมีปัญหา โทรปรึกษา สายด่วน 1546

  • กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

กสร. แนะนายจ้าง ลูกจ้าง ใช้มาตรการ 1ต 2ป 3อ ป้องกันอันตรายจากการทำงานในที่อับอากาศ


   กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานห่วงความปลอดภัยลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับการทำงานในที่อับอากาศ แนะให้นายจ้าง ลูกจ้าง ปฏิบัติตามมาตรการ หลัก 1ต 2ป 3อ เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายจากการทำงานในที่อับอากาศ
นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยในความปลอดภัยของลูกจ้างที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศ เนื่องจากการทำงานในที่อับอากาศเป็นพื้นที่ที่มีทางเข้าออกจำกัดและมีการระบายอากาศที่ไม่เพียงพอ อาจเป็นเหตุทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายได้ กรมจึงได้จัดทำมาตรการด้านความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อเป็นการสร้างการตระหนักรู้ให้แก่นายจ้างและลูกจ้างในการป้องกันอันตรายจากการทำงานในที่อับอากาศ ซึ่งหลักการดังกล่าว ประกอบด้วย “1ต 2ป 3อ” กล่าวคือ 1ต ตรวจสอบ หมายถึง การประเมินสภาพอันตรายและตรวจวัดสภาพอากาศ ก่อนอนุญาตให้ลูกจ้างทำงานและระหว่างการทำงานเป็นระยะๆ 2ป หมายถึง ป้ายเตือน พื้นที่อับอากาศ/ป้ายห้ามเข้า และ ปิดกั้น คือ ต้องจัดให้มีสิ่งปิดกั้นเพื่อป้องกันการเข้าไปหรือตกลงไปในที่อับอากาศ 3อ หมายถึง อนุญาต มีระบบการอนุญาตการทำงานในที่อับอากาศทุกครั้ง โดยระบุรายละเอียดต่างๆ เช่น สถานที่ วัน เวลาทำงาน ชื่อลูกจ้างที่ปฏิบัติงาน ผู้ควบคุมงาน มาตรการความปลอดภัย ฯลฯ อบรม ผู้ทำงานในที่อับอากาศ ผู้ควบคุมงานหรือผู้ช่วยเหลือต้องได้รับการอบรมความปลอดภัยฯ ในที่อับอากาศตามที่กฎหมายกำหนด และอุปกรณ์ นายจ้างต้องจัดให้มีอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลอย่างครบถ้วน อุปกรณ์ช่วยเหลือและช่วยชีวิต อุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เหมาะสมกับการใช้งาน เป็นต้น
   อธิบดี กสร. กล่าวต่อไปอีกว่า อันตรายจากการทำงานในที่อับอากาศสามารถป้องกันได้ หากทุกฝ่ายตระหนักและคำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงาน จึงอยากเน้นย้ำให้นายจ้างและลูกจ้างปฏิบัติตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2544 รวมทั้งกฎกระทรวงหรือประกาศกรมที่เกี่ยวข้อง และยึดหลัก 1ต 2ป 3อ เป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินทั้งของลูกจ้างและนายจ้าง ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองความปลอดภัยแรงงาน โทรศัพท์ 02-4489128-39 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทรศัพท์สายด่วน หมายเลข 1506 กด 3 และ 1546


ข้อมูลบริการ

ร้องเรียน

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 149 ถนนมิตรไมตรี แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
สายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546 e-Mail: info@labour.mail.go.th
รับ-ส่งหนังสือราชการ e-Mail: saraban@labour.mail.go.th

© 2024 Your Company. All Rights Reserved.

Facebook Twitter Youtube Line - ปรึกษาปัญหาแรงงาน