วันนี้ (วันที่ 1 กันยายน 2566) เวลา 13.30 น. นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการแรงงานสัมพันธ์ภาคกลาง ครั้งที่ 2/ 2566 ณ โรงแรม เดอะ คาวาลิ คาซ่า รีสอร์ท อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย คณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการฯ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ชัยนาท นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง ผู้แทนสำนักแรงงานสัมพันธ์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง
นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแรงงานสัมพันธ์ภูมิภาค ๕ ภาค ซึ่งถือเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจด้านแรงงานสัมพันธ์ของกรม ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ปฏิบัติการข่าวในการเฝ้าระวังติดตาม และวางแผนให้ปัญหาสามารถยุติลงลด ข้อร้องเรียน และการเข้ามาเรียกร้องในส่วนกลาง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้านแรงงานในระดับภูมิภาค เป็นต้น จากข้อมูลสถิติสถานการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์ปฏิบัติการแรงงานสัมพันธ์ภาคกลาง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (ข้อมูลวันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 25 สิงหาคม 2566) พบว่าอยู่ในระดับที่สูงรองจากภาคตะวันออก เมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ เนื่องจากสถานประกอบกิจการส่วนใหญ่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบเป็นกิจการขนาดใหญ่ มีสหภาพแรงงานจำนวนมาก และมีหลากหลายประเภทกิจการ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ในระหว่างเดือนตุลาคม – เดือนธันวาคมของทุกปีเป็นช่วงที่ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง/สหภาพแรงงาน จะมีการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง จึงเป็นช่วงที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามข่าวสถานการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นไม่ให้ลุกลามบานปลายส่งผลกระทบในวงกว้าง นอกจากนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องรักษาภาพลักษณ์ในเรื่องสิทธิมนุษยชนให้อยู่ในระดับมาตรฐานที่นานาชาติให้การยอมรับ และหลีกเลี่ยงปัญหาการค้ามนุษย์ที่จะส่งผลต่อการจัดอันดับในการค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report หรือ TIP Report) ของกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญประเด็นสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ ในจังหวัดที่มีการใช้แรงงานข้ามชาติ โดยศึกษาเพื่อพัฒนารูปแบบของการบริหารแรงงานสัมพันธ์ภายใต้เงื่อนไขของความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ผมให้ความสำคัญและขอย้ำให้ยังคงมุ่งมั่นให้ทุกหน่วยงานทุกจังหวัดใช้หลักการทำงาน “แรงงานสัมพันธ์เชิงรุก” ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่“3 ต้อง 2 ไม่” 1) ต้องมีข้อมูลที่ครบถ้วน และถูกต้อง เช่น ข้อมูลสถานประกอบกิจการ นายจ้าง ลูกจ้าง สหภาพแรงงาน ผู้นำสหภาพแรงงาน เป็นต้น 2) ต้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่ามีปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์อย่างไร เพื่อนำไปสู่การกำหนดแผนงาน โครงการ กิจกรรม ในการดำเนินงานเชิงรุก โดยเฉพาะการทำงานเชิงรุกด้านการป้องกัน มิให้สถานการณ์ลุกลาม บานปลายจนยากจะแก้ไข หรือแก้ไขได้ยาก 3) ต้องสร้างความสัมพันธ์กับนายจ้าง ลูกจ้าง สหภาพแรงงานให้เกิดความรัก ความศรัทธา ความไว้วางใจ 4) ไม่มีอคติ (ความลำเอียง) ในการปฏิบัติงาน 5) ไม่สร้างเงื่อนไข ให้เกิดสถานการณ์ความขัดแย้ง