กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
Department of Labour Protection and Welfare

แรงงานมีปัญหา โทรปรึกษา สายด่วน 1546

อธิบดี กสร. ชูหลัก 3จ 1ป เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ / อุบัติภัย จากสารเคมีอันตราย


     กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน นายจ้าง ลูกจ้าง ต้องปฏิบัติตามหลัก 3จ 1ป อย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและอุบัติภัยจากสารเคมีอันตราย

     นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้แสดงความห่วงใยในเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของลูกจ้างที่ต้องทำงานกับสารเคมีอันตราย เนื่องจากต้องทำงานใกล้ชิดกับสารเคมีซึ่งอาจเกิดอันตรายกับชีวิตลูกจ้างได้ จึงสั่งการให้ กสร. นำมาตรการด้านความปลอดภัยในการทำงานที่มีมาใช้เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่นายจ้าง และลูกจ้าง โดยนำหลัก 3จ 1ป ซึ่งเป็นมาตรการในการป้องกันอันตรายที่จะเกิดอุบัติเหตุและอุบัติภัยจากสารเคมีอันตรายมาใช้บังคับ เพื่อดูแลความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างกลุ่มนี้ รวมถึงสร้างการรับรู้ความเข้าใจให้ นายจ้าง ลูกจ้าง ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยหลักดังกล่าวประกอบด้วย การแจ้ง การจัดการ การจัดเก็บ และการประเมิน โดย “การแจ้ง” หมายถึง สถานประกอบกิจการที่ใช้สารเคมีต้องแจ้งบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตราย (สอ.1) ต่อกรม ภายในเดือนมกราคมของทุกปี แจ้งข้อมูลสารเคมีโดยการติดฉลากบนภาชนะบรรจุสารเคมี แจ้งให้ลูกจ้างทราบ เข้าใจข้อมูลความปลอดภัย สัญลักษณ์ วิธีการทำงานที่ถูกต้องและปลอดภัย และการบรรเทาเหตุฉุกเฉินเบื้องต้น ตลอดจนติดป้ายห้าม ป้ายเตือน ป้ายให้ปฏิบัติติดไว้ในที่ทำงาน “การจัดการ” หมายถึง จัดการสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีให้ถูกลักษณะ สะอาด เป็นระเบียบ มีระบบระบายอากาศ ระบบป้องกันและกำจัดมลพิษ จัดการให้มีสถานที่และอุปกรณ์เพื่อความคุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล และจัดการให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามสภาพและลักษณะงาน “การจัดเก็บ” หมายถึง สถานที่จัดเก็บเป็นไปตามมาตรฐาน ทนไฟได้ตามมาตรฐาน พื้นเรียบสะอาด ไม่เปียกลื่น ไม่ดูดซับสารเคมีอันตราย มีระยะห่างปลอดภัยจากอาคารที่ลูกจ้างทำงาน และ “การประเมิน” หมายถึง มีการประเมินความเสี่ยงการก่ออันตรายของสารเคมีที่ใช้และประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพของลูกจ้างเป็นประจำ

     อธิบดี กสร. กล่าวต่อไปว่า การป้องกันอุบัติเหตุและอุบัติภัยจากสารเคมีอันตรายนั้น ต้องเกิดจากความร่วมมือและร่วมใจจากทุกฝ่าย โดยการสร้างความตระหนักรู้และคำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงาน จึงอยากจะกำชับให้นายจ้าง ลูกจ้างปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยและทำตามหลัก 3จ 1ป เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ / อุบัติเหตุ จากสารเคมีอันตราย และนำไปใช้เป็นแนวทางการทำงานในสถานประกอบกิจการอย่างเข้มงวด หากประสงค์จะทราบข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองความปลอดภัยแรงงาน โทรศัพท์ 0 2448 9128-39 หรือ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทรศัพท์สายด่วน หมายเลข 1506 กด 3 และ 1546


ข้อมูลบริการ

ร้องเรียน

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 149 ถนนมิตรไมตรี แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
สายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546 e-Mail: info@labour.mail.go.th
รับ-ส่งหนังสือราชการ e-Mail: saraban@labour.mail.go.th

© 2024 Your Company. All Rights Reserved.

Facebook Twitter Youtube Line - ปรึกษาปัญหาแรงงาน